กลองไทยชนิดต่างๆเชื่อกันว่ากลองยาวได้แบบอย่างมาจาก พม่าในสมัยกรุงธนบุรีหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามกัน เวลาพักรบ ทหารพม่าก็เล่น “กลองยาว” กันสนุกสนาน พวกชาวไทยได้เห็นก็จำแบบอย่างมาเล่นบ้าง แต่บางท่านก็เล่าว่า กลองยาวของพม่าแบบนี้ มีชาวพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่นบวชนาค ทอดกฐินเป็นต้น และนิยมเล่นกันเป็นที่รื่นเริง สนุกสนานในเทศกาล สงกรานต์ และเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง วงหนึ่งๆ จะใช้กลองยาวหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วม มี ฉิ่ง ,ฉาบเล็ก,กรับ,โหม่งเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “เถิดเทิง” หรือ “เทิงกลองยาว” ที่เรียกเช่นนี้เข้าใจว่า เรียกตามเสียงกลองที่ตีและตามรูปลักษณะกลองยาว
กลองยาวของพม่าเรียกว่า “โอสิ” (OZI) และของชาวไทยอาหมในแคว้นอัสสัมก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่กลองยาวของชาวไทยอาหมรูปร่างคล้ายตะโพน คือ หัวท้ายเล็กป่องกลางและเล็กกว่าตะโพน ขึ้นหนังทั้งสองข้าง ผูกสายตีได้ ทั้งกลองยาวของพม่าและกลองของชาวไทยอาหม มีวิธีการเล่นเป็นแบบเดียวกัน